การพัฒนา การพิมพ์และการตอบรับ ของ แฮร์รี่_พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์

การพัฒนา

หนังสือนี้ซึ่งเป็นนวนิยายประเดิมของโรว์ลิง เขียนระหว่างประมาณเดือนมิถุนายน 2533 ถึงประมาณปี 2538 ในปี 2533 โจ โรว์ลิง อันเป็นชื่อที่เธอชอบให้รู้จัก ต้องการย้ายกับแฟนหนุ่มไปแฟลตแห่งหนึ่งในแมนเชสเตอร์ และตามคำของเธอ "สุดสัปดาห์หนึ่งหลังการตระเวนหาแฟลต ฉันนั่งรถไฟกลับกรุงลอนดอนด้วยตัวเองแล้วความคิดแฮร์รี่ พอตเตอร์ตกมาในหัวของฉัน ... เด็กชายผอมหุ้มกระดูก ตัวเล็ก ผมสีดำ และสวมแว่นตากลายเป็นพ่อมดมากขึ้นทุกที ๆ สำหรับฉัน... ฉันเริ่มเขียนศิลาอาถรรพ์ เย็นนั้นเอง แม้ว่าหน้าแรก ๆ ดูไม่เหมือนผลงานสมบูรณ์เลย"[7] แล้วมารดาของโรว์ลิงเสียชีวิต เพื่อรับมือกับความเจ็บปวดของเธอ โรว์ลิงถ่ายโอนความระทมของเธอไปยังแฮร์รี่กำพร้า[7] โรว์ลิงใช้เวลาหกปีเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และหลังจากบลูมส์บิวรีตอบรับ เธอได้เงินอุดหนุน 8,000 ปอนด์จากสภาศิลปะสกอต ซึ่งทำให้เธอสามารถวางแผนภาคต่อ[8] เธอส่งหนังสือให้ตัวแทนและสำนักพิมพ์ แล้วตัวแทนที่สองที่เธอเข้าหาใช้เวลาหนึ่งปีพยายามขายหนังสือให้สำนักพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่คิดว่ายาวเกินไป คือ ประมาณ 90,000 คำ แบร์รี คันนิงแฮม ซึ่งกำลังสร้างแฟ้มผลงานแฟนตาซีโดดเด่นโดยผู้ประพันธ์ใหม่สำหรับหนังสือเด็กบลูมส์บิวรี แนะนำให้รับหนังสือ[9] และธิดาของประธานบริหารของบลูมส์บิวรีวัยแปดขวบกล่าวว่า มัน "ดีกว่าเล่มอื่นมาก"[10]

การพิมพ์และการตอบรับในสหราชอาณาจักร

การเลียนแบบชานชาลาที่ 9¾ ในบันเทิงคดีที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส โดยรถลากสัมภาระที่ดูทะลุกำแพงมนตราได้ครึ่งทาง

บลูมส์บิวรีตอบรับหนังสือ โดยจ่ายโรว์ลิงล่วงหน้า 2,500 ปอนด์[11] และคันนิงแฮมส่งสำเนาต้นฉบับถึงผู้ประพันธ์ นักวิจารณ์และผู้ขายหนังสือที่ได้รับเลือกอย่างระวังเพื่อเอาความเห็นที่จะสามารถยกมาเมื่อวางขายหนังสือ[9] เขากังวลถึงความยาวหนังสือน้อยกว่าชื่อผู้ประพันธ์ เพราะชื่อเรื่องฟังคล้ายหนังสือเด็กชาย และเด็กชายนิยมหนังสือผู้ประพันธ์ชาย ฉะนั้น โรว์ลิงจึงใช้นามปากกา เจ.เค. โรว์ลิง ไม่นานก่อนพิมพ์[9] ในเดือนมิถุนายน 2540 บลูมส์บิวรีจัดพิมพ์ศิลาอาถรรพ์ ทีแรกจำนวน 500 เล่มเป็นปกแข็ง ซึ่งสามร้อยเล่มถูกจำหน่ายไปห้องสมุดต่าง ๆ[12] ชื่อเดิม "โจแอนน์ โรว์ลิง" ของเธอ พบเป็นตัวพิมพ์เล็ก ๆ ในหน้าลิขสิทธิ์ของฉบับพิมพ์ในอังกฤษครั้งแรกนี้ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ปี 2541 ตัดการพาดพิงถึง "โจแอนน์" อย่างสิ้นเชิง)[13] การพิมพ์ครั้งแรกเป็นจำนวนน้อยนั้นเป็นเรื่องปกติสำหรับนวนิยายเล่มแรก และคันนิงแฮมหวังว่าผู้ขายหนังสือจะอ่านหนังสือ และแนะนำให้ลูกค้า[9] ตัวอย่างจากการพิมพ์ครั้งแรกนี้ที่มีมูลค่าสูง คือ ในการประมูลเฮอริเทจปี 2550 ขายได้ราคาถึง 33,460 ดอลลาร์สหรัฐ[14]

ลินซีย์ เฟรเซอร์ (Lindsey Fraser) หนึ่งในผู้ให้ความเห็นในคำนิยม[9] เขียนสิ่งที่คาดว่าเป็นบทปริทัศน์จัดพิมพ์ชิ้นแรก ในเดอะสกอตส์แมน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 เธออธิบายแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ว่า "เรื่องตื่นเต้นน่าบันเทิงมาก" และโรว์ลิงว่า "ผู้เขียนสำหรับเด็กชั้นหนึ่ง"[9][15] บทปริทัศน์ช่วงแรก ๆ อีกบทหนึ่ง ในเดอะเฮรัลด์ ว่า "ฉันยังไม่เจอเด็กที่วางมันลงได้" หนังสือพิมพ์นอกสกอตแลนด์เริ่มสังเกตหนังสือ โดยมีบทปริทัศน์ยกย่องในเดอะการ์เดียน เดอะซันเดย์ไทมส์ และเดอะเมลออนซันเดย์ และในเดือนกันยายน 2540 บุ๊กส์ฟอร์คีพส์ นิตยสารซึ่งว่าด้วยหนังสือเด็กโดยเฉพาะ ให้นวนิยายนี้สี่ดาวเต็มห้า[9] เดอะเมลออนซันเดย์ ประเมินว่า "การประเดิมอันเปี่ยมจินตนาการที่สุดนับแต่โรอาลด์ ดาห์ล" ซึ่งเป็นความเห็นที่ประสานกับเดอะซันเดย์ไทมส์ ("คราวนี้ การเปรียบกับดาห์ลชอบแล้ว") ขณะที่เดอะการ์เดียนเรียกว่า "นวนิยายเนื้อดีซึ่งอัจฉริยะสร้างสรรค์ปล่อยทะยาน" และเดอะสกอตส์แมน กล่าวว่า "มีคุณสมบัติของคลาสสิกทุกประการ"[9]

ฉบับสหราชอาณาจักรปี 2540 ได้รางวัลหนังสือแห่งชาติและเหรียญทองรางวัลหนังสือเนสเล่ สมาร์ตีส์หมวด 9 ถึง 11 ปี[16] รางวัลสมาร์ตีส์ ซึ่งเด็กเป็นผู้ออกเสียง ทำให้หนังสือดังภายในหกเดือนของการพิมพ์ ขณะที่หนังสือเด็กส่วนใหญ่ต้องรอเป็นปี ๆ[9] ปีต่อมา ศิลาอาถรรพ์กวาดรางวัลอังกฤษซึ่งเด็กเป็นผู้ตัดสินใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมด[9] นอกจากนี้ ยังอยู่ในรายการท้าชิงรางวัลหนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ตัดสิน[17] แต่ไม่ชนะ ซานดรา เบ็กเคตต์ออกความเห็นว่า หนังสือซึ่งได้รับความนิยมกับเด็กถือว่าต้องใช้ความพยายามน้อย (undemanding) และไม่อยู่ในมาตรฐานวรรณกรรมสูงสุด ตัวอย่างเช่น สถาบันวรรณกรรมรังเกียจงานของโรอาลด์ ดาห์ล แต่เป็นที่นิยมท่วมท้นของเด็กก่อนหนังสือของโรว์ลิงปรากฏ[18] ในปี 2546 นวนิยายนี้อยู่ในรายการที่อันดับ 22 ในการสำรวจเดอะบิ๊กรีดของบีบีซี[19]

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้สองรางวัลอุตสาหกรรมจัดพิมพ์ซึ่งให้สำหรับการขายมากกว่าคุณค่าวรรณกรรม คือ หนังสือเด็กแห่งปีของรางวัลหนังสืออังกฤษ และผู้ประพันธ์แห่งปีของสมาคมผู้ขายหนังสือ / บุ๊กเซลเลอร์[9] เมื่อเดือนมีนาคม 2542 ฉบับสหราชอาณาจักรขายได้กว่า 300,000 เล่ม[20] และเรื่องนี้ยังเป็นหนังสือขายดีที่สุดของสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม 2544[21] ฉบับอักษรเบรลล์จัดพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2541 โดยสำนักพิมพ์เบรลล์สกอตแลนด์[22]

ชานชาลาที่ 9¾ อันเป็นที่ซึ่งรถไฟด่วนสายฮอกวอตส์ออกจากกรุงลอนดอน มีการอนุสรณ์ในสถานีรถไฟคิงส์ครอสในชีวิตจริงด้วยสัญลักษณ์และรถเข็นที่ดูเหมือนกำลังผ่านทะลุกำแพง[23]

การพิมพ์และการตอบรับในสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างการแปลสำเนียงบริเตนเป็นอเมริกัน[24][25]
บริเตนอเมริกัน
mum, mammom
sherbet lemonlemon drop
motorbikemotorcycle
chipsfries
crispchip
jellyJell-O
jacket potatobaked potato
jumpersweater

บริษัทสกอลาสติกซื้อสิทธิ์การพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาที่เทศกาลหนังสือโบโลญญาเมื่อเดือนเมษายน 2540 เป็นเงิน 105,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นจำนวนเงินสูงผิดปกติสำหรับหนังสือเด็ก[9] พวกเขาคาดว่าเด็กจะไม่อยากอ่านหนังสือที่มีคำว่า "นักปราชญ์" (philosopher) ในชื่อเรื่อง[26] และหลังอภิปรายบ้าง ก็ได้มีการจัดพิมพ์ฉบับอเมริกันในเดือนกันยายน 2541[27] ภายใต้ชื่อเรื่องที่โรว์ลิงเสนอ คือ Harry Potter and the Sorcerer's Stone[9] (แปลตามอักษรว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาผู้วิเศษ") โรว์ลิงอ้างว่าเธอเสียใจการเปลี่ยนแปลงนี้และจะสู้หากเธออยู่ในฐานะที่แข็งแรงกว่าตอนนั้น[28] ฟิลิป เนลชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เสียความเชื่อมโยงกับการเล่นแร่แปรธาตุ และมีการเปลี่ยนคำอื่นบางคำในการแปล ตัวอย่างเช่น จาก "crumpets" ในภาษาอังกฤษแบบบริติชเป็น "muffin" ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน แม้โรว์ลิงยอมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจาก "mum" ในภาษาอังกฤษแบบบริติชและ "mam" แบบภาษาไอริชที่เชมัส ฟินนิกันใช้ เป็น "mom" ใน Harry Potter and the Sorcerer's Stone แต่เธอคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ในเล่มต่อ ๆ มา ทว่า เนลมองว่าการแปลของสกอลาสติกค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าการแปลส่วนใหญ่ที่กำหนดตามหนังสือภาษาอังกฤษแบบบริติชขณะนั้น และการเปลี่ยนแปลงอื่นบางอย่างอาจถือได้ว่าเป็นการพิสูจน์อักษรที่มีประโยชน์[24] เพราะฉบับสหราชอาณาจักรเล่มแรก ๆ ในชุดจัดพิมพ์สองสามเดือนก่อนฉบับอเมริกัน ผู้อ่านชาวอเมริกันบางคนจึงคุ้นเคยกับรุ่นภาษาอังกฤษแบบบริติชหลังซื้อหนังสือทางอินเทอร์เน็ต[29]

ทีแรกผู้วิจารณ์ทรงเกียรติที่สุดละเลยหนังสือ โดยปล่อยให้สิ่งพิมพ์เผยแพร่ขายหนังสือและห้องสมุด เช่น เคอร์คัสรีวิวส์ (Kirkus Reviews) และบุ๊กลิสต์ ซึ่งพิจารณาหนังสือเฉพาะเกณฑ์ที่เน้นความบันเทิงของบันเทิงคดีเด็ก ทว่า บทปฏิทัศน์ผู้ชำนัญพิเศษที่เจาะลึกขึ้น (เช่น โดยโคออเพอเรทีฟชิลเดรนส์บุ๊กเซ็นเตอร์ชอยส์ ซึ่งชี้ความซับซ้อน ความลึกและความต่อเนื่องของโลกที่โรว์ลิงสร้าง) ดึงดูดความสนใจของนักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์หลัก ๆ[30] แม้เดอะบอสตันโกลบ และ Michael Winerip ในเดอะนิวยอร์กไทมส์ บ่นว่าบทท้าย ๆ เป็นส่วนที่อ่อนที่สุดของหนังสือ[15][31] พวกเขาและนักวิจารณ์ชาวอเมริกันอื่นส่วนมากให้การยกย่อง[9][15] ปีต่อมา ฉบับสหรัฐอเมริกาได้รับเลือกเป็นหนังสือเด่นของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี 2541 ของพับลิเชอส์วีกลี และหนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี 2541 ของหอสมุดสาธารณะนิวยอร์ก และคว้ารางวัลหนังสือแห่งปี 2541 ของนิตยสารเพเรนติง[16] หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปีของวารสารห้องสมุดโรงเรียน และหนังสือยอดเยี่ยมสำหรับผู้ใหญ่ตอนต้นของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน[9]

ในเดือนสิงหาคม 2542 Harry Potter and the Sorcerer's Stone แตะอันดับ 1 รายการบันเทิงคดีขายดีที่สุดของนิวยอร์กไทมส์[32] และอยู่ใกล้อันดับ 1 เป็นเวลาส่วนใหญ่ของปี 2542 และ 2543 จนนิวยอร์กไทมส์ แบ่งรายการออกเป็นส่วนหนังสือเด็กและผู้ใหญ่ภายใต้แรงกดดันจากสำนัดพิมพ์อื่นที่ใคร่เห็นหนังสือของตนได้อันดับดีขึ้น[18][30] รายงานของพับลิเชอร์วีกลีเมื่อเดือนธันวาคม 2544 ว่าด้วยยอดขายสะสมของบันเทิงคดีเด็กได้จัดอันดับ Harry Potter and the Sorcerer's Stone ในอันดับที่ 19 ในหมวดปกแข็ง (กว่า 5 ล้านเล่ม) และอันดับที่ 7 ในหมวดปกอ่อน (กว่า 6.6 ล้านเล่ม)[33]

ในเดือนพฤษภาคม 2551 สกอลาสติกประกาศการสร้างฉบับครบรอบปีที่ 10 ของหนังสือ[34] ซึ่งออกจำหน่ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2551[35] เพื่อเป็นสัญลักษณ์วันครบรอบปีที่สิบการวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาดั้งเดิม[34] สำหรับวันครบรอบปีที่สิบห้าของหนังสือ สกอลาสติกออก Sorcerer's Stone ใหม่ กับนวนิยายอีกหกเล่มในชุด กับภาพปกใหม่โดยคะซุ คิบุอิชิ ในปี 2556[36][37][38]

การแปล

เมื่อกลางปี 2551 มีการจัดพิมพ์การแปลหนังสืออย่างเป็นทางการใน 67 ภาษา[39][40] บลูมส์บิวรีจัดพิมพ์การแปลในภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[41][42] ซึ่งฉบับภาษากรีกโบราณนี้ได้รับอธิบายว่าเป็น "ร้อยแก้วภาษากรีกโบราณชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่เขียนในหลายศตวรรษ"[43]

ใกล้เคียง

แฮร์รี่ พอตเตอร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แฮร์รี เคน แฮร์รี แมไกวร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ภาพยนตร์ชุด) แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (ภาพยนตร์) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (ภาพยนตร์) แฮร์รอดส์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2

แหล่งที่มา

WikiPedia: แฮร์รี่_พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ http://www.amazon.com/dp/054506967X/ http://www.arthuralevinebooks.com/awards.asp http://www.businessweek.com/magazine/content/05_22... http://www.cbsnews.com/news/harry-potter-gets-new-... http://www.computerandvideogames.com/article.php?i... http://books.google.com/?id=cHjF5K2uVdsC&pg=PA7 http://books.google.com/?id=f6y2_oFOcjQC&pg=PA5 http://books.google.com/?id=iO5pApw2JycC&pg=PA261 http://books.google.com/?id=iO5pApw2JycC&pg=PA306 http://books.google.com/books?id=-__ICQemqaEC&pg=P...